วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

[บทความ] เอนไซม์ คืออะไร ?



เอนไซม์ คืออะไร ?

เอนไซม์คือโปรตีนที่ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมีในสิ่งมีชีวิต โดยเอนไซม์จะเข้าไปจับกับสารตั้งต้น (Substrate) แบบจำเพาะเจาะจงเสมือนกับแม่กุญแจที่ใช้ได้กับลูกกุญแจเพียงแบบเดียวเท่านั้น และเอนไซม์จะเปลี่ยนสารตั้งต้นให้เป็นสารที่ถูกแปรสภาพแล้ว (Product) ได้อย่างรวดเร็วขึ้น กว่าที่จะเกิดเองตามธรรมชาติโดยปราศจากเอนไซม์ ทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถใช้ประโยชน์จากปฏิกิริยาเคมีได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และสามารถทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้

เอนไซม์แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

เอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร (Digestive Enzyme) เช่น เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) มีหน้าที่ย่อยแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตให้เป็นน้ำตาล เอนไซม์ โปรตีเอส (Protease) ทำหน้าที่ย่อยโปรตีนให้เป็นกรดอะมิโน และเอนไซม์ไลเปส (Lipase) ทำหน้าที่ย่อยไขมันให้อยู่ในรูปกรดไขมัน ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมเอาน้ำตาล กรดอะมิโน และกรดไขมันเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ได้

เอนไซม์อีกประเภทหนึ่งทำหน้าที่ในกระบวนการเมตา-บอลิซึ่ม (Metabolism) ซึ่งเป็นขบวนการที่ร่างกายใช้เพื่อเผาผลาญอาหารให้ได้พลังงาน รวมถึงการสร้างเสริมร่างกายและป้องกันโรค เอนไซม์ประเภทนี้เรียกว่า “เมตาบอลิคเอ็นโซม์” (Metabolic Enzyme)

อวัยวะและเนื้อเยื่อทุกส่วนจะมีเมตาบอลิกเอนไซม์ ที่จำเพาะเจาะจงของอวัยวะและเนื้อเยื่อแต่ละส่วน และจะทำหน้าที่แตกต่างออกไปจากอวัยวะและเนื้อเยื่อส่วนอื่น ในหลอดโลหิตแดง มีเอนไซม์อยู่ถึง 98 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีหน้าที่จำเพาะแตกต่างกันไป อวัยวะทุกส่วนของร่างกายทำงานได้เนื่องจากการทำงานของ เมตาบอลิกเอนไซม์ และเอนไซม์เหล่านี้จะนำโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต มาสร้างเป็นร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ และทำงานได้อย่างเป็นปกติ เมตาบอลิกเอนไซม์ในร่างกายมีอยู่จำนวนมากมาย ในปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดทราบว่า ร่างกายต้องใช้เอนไซม์กี่ชนิด เพื่อให้การทำงานของหัวใจ สมอง ปอด ไต และอวัยวะอื่นๆ ทำงานได้อย่างปกติ และมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังไม่สามารถค้นพบหน้าที่ของเอนไซม์อีกจำนวนมากในร่างกาย

เอนไซม์เป็นเสมือนแรงงานของร่างกายที่ทำงานในระบบเมตาบอลิซึม เอนไซม์ทำงานเพื่อให้พลังงานแก่ร่างกาย ให้สามารถรักษาสุขภาพของร่างกายให้แข็งแรงและรักษาโรคได้อย่างรวดเร็ว หากร่างกายปราศจากเอนไซม์ ร่างกายก็จะเป็นเพียงเสมือนเคมีกองโตที่ไร้ชีวิต เอนไซม์เป็นสสารที่ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นได้ เอนไซม์มีความจำป็นต่อทุกปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นในร่างกายมนุษย์ เกลือแร่ วิตามิน และฮอร์โมน จะไม่สามารถทำงานได้ หากปราศจากเอนไซม์ ร่างกายมนุษย์ อวัยวะ เนื้อเยื่อ และเซลล์ ถูกควบคุมโดยการทำงานของเมตาบอลิคเอนไซม์ เอนไซม์เปรียบเสมือนแรงงานที่ทำหน้าที่สร้างร่างกายขึ้นจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน เสมือนกับแรงงานที่สร้างบ้าน หากมีอุปกรณ์แต่ไม่มีช่างก่อสร้างก็ไม่สามารถจะสร้างบ้านขึ้นได้

สิ่งมีชีวิต ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ หากปราศจากเอนไซม์ เอนไซม์เปลี่ยนอาหารที่เรารับประทานเข้าไปให้เป็นโครงสร้างทางเคมีที่สามารถผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ในระบบย่อยอาหาร และเข้าสู่กระแสเลือดได้ นอกจากนี้เอนไซม์ยังช่วยเปลี่ยนอาหารให้เป็นกล้ามเนื้อ กระดูก เส้นประสาท และต่อมต่างๆ เอนไซม์ในตับจะช่วยเก็บอาหารส่วนที่เหลือใช้ เพื่อถนอมเป็นพลังงาน และวัตถุดิบที่จำเป็นในภายหน้า เอนไซม์ยังช่วยไต ปอด ตับ ผิวหนัง และลำไส้ ในการขับถ่ายของเสีย นอกจากนี้ยังมีเอนไซม์ที่ช่วยรวมธาตุเหล็กประกอบลงไปในเม็ดเลือดแดง ช่วยทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหยุดไหล เมื่อเกิดบาดแผล และอื่นๆอีกมากมาย อาจเป็นการง่ายขึ้นหากจะกล่าวถึงกระบวนการที่ไม่เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ เนื่องจากเอนไซม์เกี่ยวข้องกับทุกระบบในร่างกาย การหายใจ การนอนหลับ การรับประทานอาหาร การทำงาน และกระบวนการคิดของร่างกายขึ้นอยู่กับเอนไซม์

ตับอ่อน เป็นอวัยวะที่ผลิตเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยอาหารมากที่สุด ตับอ่อนได้รับวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตเอนไซม์จากกระแสเลือด หรือจากเซลล์ของร่างกาย ตับอ่อนผลิตเอนไซม์ที่สำคัญในกระบวนการย่อยอาหาร ได้แก่เอนไซม์อะไมเลส เอนไซม์โปรตีเอส และเอนไซม์ไลเปส แม้ว่าตับอ่อนจะผลิตเหล่านี้ในปริมาณมาก แต่เราควรคำนึงถึงเอนไซม์ที่มีอยู่ในอาหารเพื่อช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร ร่วมกับเอนไซม์ในร่างกายด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น